การใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร

School Profiles

การใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร

คำในภาษาไทยหลายคำมีความหมายใกล้เคียงกัน บางคำอาจใช้แทนกันได้ ขณะที่บางคำใช้แทนกันไม่ได้ เช่น คำว่า มอง จ้อง เพ่ง เล็ง ชม้อย ชม้าย เมียง เมิน เหลือบ เหลียว ยล เป็นชุดคำที่มีความหมายใกล้เคียงกัน แต่ลักษณะอาการต่างกัน ดังนั้นการใช้คำจึงต้องเลือกใช้ให้ตรงตามความหมาย

   ความหมายโดยนัย คือ ความหมายเชิงเปรียบเทียบหรือมีความสัมพันธ์กับสิ่งอื่น มีความหมายแฝงในคำ สามารถสื่ออารมณ์แก่ผู้อ่านได้มาก จึงนิยมนำไปใช้เป็นความเปรียบ แต่ต้องเป็นที่เข้าใจตรงกัน เช่น

         ส.ส. คนนี้วางมือทางการเมืองแล้ว คำว่า วางมือ หมายถึง เลิกยุ่งเกี่ยว

การเลือกใช้คำให้เหมาะสมกับกาลเทศะและบุคคล

   มีข้อสังเกต ดังนี้

  1. ใช้ถ้อยคำให้เหมาะสมกับฐานะของบุคคล เพื่อให้เกียรติตามฐานะ เช่น

       เจ้าอาวาสอาพาธอยู่ที่โรงพยาบาล      – อาพาธ ใช้กับพระสงฆ์

       ยายนอนป่วยอยู่ที่โรงพยาบาล            – ป่วย ใช้กับบุคคลธรรมดา

  2. ใช้ถ้อยคำให้ถูกกาลเทศะและโอกาส คือ ใช้คำตามวาระให้เหมาะสม เพื่อเคารพสถานที่ เช่น

       ขอเชิญแขกผู้มีเกียรติร่วมรดน้ำอวยพรคู่บ่าวสาว                – โอกาสที่ไม่เป็นทางการ

       ขอเชิญผู้มีเกียรติทุกท่านหลั่งน้ำพระพุทธมนต์แก่คู่บ่าวสาว  – โอกาสที่เป็นทางการ

ระดับของภาษา

   ระดับของภาษา มีขึ้นเพื่อให้ใช้ได้เหมาะสมตามกาลเทศะ แบ่งได้ ๓ ระดับคือ ไม่เป็นทางการ กึ่งทางการ และทางการ โดยแต่ละระดับใช้รูปแบบภาษาตามระดับ ดังนี้

  1. ภาษาไม่เป็นทางการ

   ภาษาไม่เป็นทางการ หรือภาษาปาก ใช้พูดกับคนใกล้ชิด หากใช้ในการเขียนจะใช้ในการเขียนนิยาย เรื่องสั้น ละคร นิทาน โฆษณา หนังสือพิมพ์ งานบันเทิงคดี จดหมายส่วนตัว ฯลฯ เช่น

       ในยุคที่ข้าวของแพง คนส่วนใหญู่ชักหน้าไม่ถึงหลัง ต้องปากกัดตีนถีบหาเงินเลี้ยงครอบครัว จับกังพวกนี้หลังเลิกงานจะจับกลุ่มนั่งก๊งเหล้ากันทุกวัน

  2. ภาษากึ่งทางการ

   ภาษากึ่งทางการ คือ ภาษาสำหรับคนรู้จักแต่ไม่คุ้นเคย ใช้ในการประชุมย่อย การอภิปราย การบรรยายในห้องเรียน การแนะนำบุคคล การปราศรัย ปาฐกถา ประกาศ ฯลฯ เช่น

       ตำรวจจับฆาตกรวางระเบิดรถยนต์เพื่อฆ่าแฟนสาว

  3. ภาษาทางการ

   ภาษาทางการ คือ ภาษาสำหรับงานพิธีการหรืองานทางการ เช่น การกล่าวถวายพระพร กล่าวรายงาน กล่าวต้อนรับบุคคลสำคัญ ประกาศแต่งตั้งบุคคล เขียนจดหมายธุรกิจ บทสุนทรพจน์ หนังสือวิชาการ หนังสืออ้างอิง หนังสือราชการ แถลงการณ์ ฯลฯ เช่น

       เจ้าหน้าที่ตำรวจประกาศจะใช้มาตรการเด็ดขาดในการปราบปรามยาเสพติด